บทที่ 2: การสร้างความไว้วางใจ สำหรับผู้จัดการมือใหม่
ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาตัวเองในเรื่องใด ๆ ก็ตามในฐานะผู้จัดการมือใหม่ การสร้างความไว้วางใจ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก ๆ ที่อยากให้คุณให้ความสนใจ เพราะถ้าคุณสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับคนรอบข้างได้ ความไว้วางใจนั้นจะเป็นรากฐานและปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของคุณประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณทำให้คนรอบข้างหมดความไว้วางใจคุณในตัวคุณโดยเฉพาะกับเจ้านาย ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม คงพอมองออกนะครับว่าอนาคตในการทำงานของคุณจะเป็นอย่างไร
ความไว้วางใจเป็นต้นทุนส่วนตัวที่คุณต้องสร้างขึ้น กับคน 3 กลุ่มด้วยกัน คือ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง เรามาดูกันว่า แนวทางในการสร้างความไว้วางใจมีอะไรบ้าง
- การสร้างความไว้วางใจให้กับเจ้านาย
ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณด้วย เพราะอย่างน้อยคุณได้สร้างความไว้วางใจให้กับเจ้านายคุณมาได้ระดับหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้น ตำแหน่งผู้จัดการคงไม่ตกมาถึงมือคุณอย่างแน่นอน มาเรียนรู้กันว่าคุณจะสามารถประคองและเพิ่มความไว้ใจกับเจ้านายคุณได้อย่างไร
- ทำงานของคุณที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จดีที่สุด
การจะทำให้เจ้านายไว้วางใจได้ดีที่สุด ไม่มีอะไรดีไปกว่าขยันทุ่มเท มุ่งมั่นตั้งใจทำงานของคุณให้สำเร็จ มีความเสมอต้นเสมอปลาย และให้ตระหนักเสมอว่างานที่สำคัญของเจ้านาย ก็เป็นงานที่สำคัญของคุณด้วย และไม่ต้องแปลกใจว่าเมื่อคุณทำงานสำเร็จ จะมีงานต่อไปที่ท้าทายจะตามมา นั่นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงว่า เจ้านายได้ไว้วางใจในตัวคุณเพิ่มมากขึ้นแล้ว และเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้คุณได้สร้างความไว้วางใจให้สูงขึ้นต่อไป
- รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้
เมื่อใดก็ตามที่คุณให้คำมั่นสัญญากับเจ้านายไว้ การรักษาสัญญา ก็คือ การรักษาความไว้วางใจที่เจ้านายมีต่อคุณ ดังนั้นก่อนจะให้คำสัญญาใด ๆ คุณควรมั่นใจในระดับหนึ่งว่าคุณทำได้ และถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณกำลังจะไม่สามารถทำตามคำสัญญานั้น ให้คุณรีบแจ้งเจ้านายคุณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมหาแนวทางแก้ไข ดีกว่าปล่อยไปโดยไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลย
- เรียนรู้ว่าเจ้านายของคุณชอบแบบไหน
เป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ที่ชอบให้คนตอบสนองในแนวทางที่ตัวเองชอบ เจ้านายเราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง การที่เราจะตอบสนองความต้องการของเจ้านายได้ดีที่สุด คือ ต้องรู้ความต้องการของเขา และการที่จะรู้ได้ดีที่สุด คือ การถาม การสื่อสารแบบจริงใจจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายด้วย
อีกวิธีการในการที่จะรู้ความต้องการ ความชอบของเจ้านาย คือ การสังเกต คุณเองต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเจ้านายคุณ เพื่อให้รู้ว่าเขาชอบแบบไหน ไม่ชอบอะไร อะไรที่ควรทำ และอะไรควรหลีกเลี่ยง
- ไม่นินทาเจ้านายลับหลัง
ถึงแม้คุณจะไม่พอใจเจ้านายมากแค่ไหนก็ตาม การนินทาเจ้านายคุณให้คนอื่นฟัง มันคือการกดปุ่มทำลายอนาตตัวเองในที่ทำงาน เพราะอย่าลืมว่าความลับไม่มีในโลก วันใดที่เรื่องถึงหูเจ้านาย คุณคิดว่า มันจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายสำหรับคุณ ถ้าคุณไม่พอใจเจ้านายจริง ๆ การสื่อสารพูดคุยอย่างเปิดเผยกับเจ้านายคุณโดยตรง น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
- รายงานสถานการณ์การทำงานของคุณให้เจ้านายทราบเป็นระยะ ๆ
อย่าลืมว่าเจ้านายคุณไม่ได้มีเวลามาดูที่หน้างานของคุณตลอดเวลา การรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ นอกจากจะทำให้คุณได้ตรวจเช็คแนวทางในการทำงานของคุณว่ามาถูกทางแล้ว ยังทำให้เจ้านายคุณได้รับข้อมูลที่ทันสมัยใช้ในการตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญมันยังเป็นเสน่ห์ในการทำงานอย่างหนึ่ง คือ ไม่ต้องรอให้เจ้านายร้องขอ แต่เราตอบสนองความต้องการของเจ้านายก่อน
นอกจากนี้การรายงานสถานการณ์ ไม่ใช่บอกแต่ข่าวดี และปกปิดข่าวร้าย คงนึกภาพพออกนะครับ ว่าถ้าเจ้านายรู้ภายหลัง คุณจะเป็นอย่างไร การรายงานข่าวร้าย พร้อมแนวทางแก้ไข จะเป็นการบอกเจ้านายคุณเพื่อให้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงเพื่อรับมือ และเป็นการรักษาระดับความไว้วางใจของเจ้านายที่มีต่อคุณได้เช่นเดียวกัน
- ชี้ให้เห็นถึงปัญหา และต้องหาหนทางแก้ไขด้วย
การที่คุณจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้านายได้ ไม่ใช่เพียงแค่ที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เจ้านายคุณคาดหวังด้วยเช่นกัน
- ทำตนเป็นผู้อาสาและริเริ่ม
พยายามเสนอตัวเข้าไปทำงาน หรือ เสนองานโปรเจตใหม่ ๆ แต่ต้องระวังไม่ให้มากจนเกินไปจนคุณไม่ไหว พยายามเสนองานที่มีคุณค่าต่อองค์กรที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวคุณเองไม่จำเป็นต้องรบกวนหัวหน้ามากจนเกินไป
- การสร้างความไว้วางใจให้กับเพื่อนร่วมงาน
คุณคงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปราศจากความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานของคุณ มาเรียนรู้กันว่า จะสร้างความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานได้อย่างไร
- สร้างความไว้วางใจให้กับตัวเอง
มันคงจะเป็นการยากที่จะให้ผู้อื่นมาไว้วางใจคุณ ในขณะที่ตัวคุณเองยังไม่ไว้ใจ และเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้นทุก ๆ งานที่คุณทำ ทุก ๆ คำที่คุณพูด และการแสดงออกทุกอย่าง ให้ทำด้วยความมั่นใจ มีพลัง กล้าตัดสินใจไม่ลังเล ไม่แสดงออกในเชิงลบที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานคุณคิดไปได้ว่าคุณขาดความมั่นใจในตนเอง
- แสดงความไว้วางใจในตัวผู้ร่วมงาน
ก่อนจะให้เพื่อนร่วมงานแสดงความไว้วางใจในตัวคุณ คุณก็จำเป็นต้องแสดงออกให้เห็นว่าคุณมีความไว้วางใจในตัวเพื่อนร่วมงานเช่นกัน ไม่ดูถูก แสดงความเย้ยหยัน ทั้งคำพูดและการแสดงออก ไม่จู้จี้จุกจิกกับเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญแสดงออกโดยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
- รับรู้ในความพยายามของเพื่อนร่วมงาน
หลาย ๆ ครั้งที่เพื่อนร่วมงานใช้ความพยายามอย่างมากในการช่วยเหลืองานคุณบางอย่าง อย่ามองข้ามละเลยที่จะตอบแทนคืนในความพยายามนั้น ๆ ของเพื่อนคุณ การกล่าวคำขอบคุณต่อหน้าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และพยายามตอบแทนคืนเมื่อคุณมีโอกาส ให้ระลึกไว้เสมอว่า คนที่จะให้ความไว้วางใจในตัวคุณ เขาต้องการรู้ว่าคุณใส่ใจในตัวเขามากน้อยแค่ไหน
- รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้
อย่าคิดว่ากับเพื่อนร่วมงานแล้วคำสัญญาจะไม่สำคัญ คำสัญญากับเพื่อนร่วมงานก็คือเครดิตของตัวคุณเองที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน ยิ่งผิดคุณสัญญาบ่อยมากเท่าไร ตัวคุณเองก็จะได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานน้อยลงเท่านั้น และยิ่งถ้าคำสัญญานั้นมีผลกระทบต่องานของเพื่อนร่วมงานของคุณ เช่น คุณสัญญาว่าจะส่งมอบงานในส่วนของคุณภายใน 2 วัน เพื่อให้เพื่อนได้รับงานไปทำต่อให้จบและส่งเจ้านาย แต่ปรากฎว่าคุณผิดสัญญาไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนดเจ้านายมาต่อว่าเพื่อนร่วมงานของคุณ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานอาจจเกิดปัญหาขึ้นได้
- ยอมรับผิดหากสิ่งนั้นเป็นความรับผิดชอบของคุณ
อย่าโยนความผิดไปให้เพื่อนร่วมงาน ถ้างานนั้นเกิดจากความผิดพลาดของคุณ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าละอายเลยที่จะยอมรับผิด กล่าวคำขอโทษ หาทางแก้ไข เรียนรู้ในสิ่งผิดพลาดนั้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
- อย่าเอาเรื่องของเพื่อนร่วมงานมาเปิดเผย
หากคุณได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานของคุณมาขอคำปรึกษา ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ให้ระลึกไว้ว่า เพื่อนร่วมงานของคุณให้ความไว้วางใจในตัวคุณเป็นอย่างมาก ดังนั้นจงรักษามันเอาไว้ การนำเรื่องไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับก็ตาม ก็เท่ากับว่าคุณได้ทำลายความไว้วางใจนั้นลงด้วยตัวคุณเอง
- แสดงออกและสื่อสารระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมา
การที่จะทำงานร่วมกันอย่างไว้วางใจนั้น การแสดงออกและการสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน ตอบข้อสงสัยอย่างตรงไปตรงมาด้วยความเต็มใจ ไม่พูดจานินทากันลับหลัง ให้กำลังใจในการทำงานซึ่งกันและกัน
- ใช้ความสามารถของตนเองในสิ่งที่เพื่อนไม่มีช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน
การที่จะทำงานร่วมกันทุกคนล้วนมีความสามารถและความถนัดที่ต่างกัน การที่เราอาสาใช้ความสามมารถและความถนัดของเราช่วยเหลือในสิ่งที่เพื่อนขาด ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี
- การสร้างความไว้วางใจให้กับลูกน้อง
กลุ่มคนที่คุณต้องใช้พลังงานออกแรงในการสร้างความไว้วางใจมากที่สุดในฐานะผู้จัดการใหม่ คือ ลูกน้องของคุณเอง อาจจะเนื่องจากทั้งความที่คุณกับลูกน้องไม่คุ้นเคยกัน หรือ ในบางกรณีเกิดจากที่เขารู้จักคุณมากเกินไปเพราะเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน หรือ เรียกว่ารู้ใส้รู้พุงกันมานาน หรือแม้กระทั่งในกรณีที่คุณได้ลูกน้องที่มีอายุมากกว่าด้วย แต่ไม่ว่าจะกรณีใด คุณสามารถสร้างความไว้วางใจต่อตัวลูกน้องคุณได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
- รับปากแล้วต้องทำ ถ้าทำไม่ได้อย่ารับปาก
คำสัญญาที่หลุดออกจากปากคุณ คือ ความคาดหวังที่จะไปเกิดขึ้นในใจของลูกน้อง เพราะฉะนั้น จงทำตามที่รับปากไว้กับลูกน้อง การทำตามสัญญาจะเป็นการเพิ่มความไว้วางใจของตัวคุณเองที่มีต่อลูกน้อง อยากได้ใจลูกน้องคิดสักนิด ก่อนไปสัญญาอะไร อย่าเพียงพูดให้ผ่าน ๆ ไป เราอาจจะทำเป็นลืมจากสมองเรา แต่ในใจของลูกน้องไม่เคยลืม
- รู้ และ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้เรื่องงาน กล้าตัดสินใจ และสามารถให้คำแนะนำลูกน้องได้
ลองหลักตานึกภาพนะครับ ถ้าลูกน้องเดินมาขอคำปรึกษาเรื่องงานกับคุณ ครั้งแรกคุณบอกไม่แน่ใจขอเวลาก่อน อีก 2 วันลูกน้องเดินมาถามใหม่ คุณบอกรอก่อน ขอเวลาอีกนิด คุณคิดว่าจะมีครั้งที่ 3 ไหมครับ ลูกน้องคงรับรู้ว่า ผู้จัดการอย่างคุณไม่น่าจะให้คำแนะนำได้แน่ ๆ
- แสดงความมั่นใจในตนเอง มีทัศนคติเชิงบวก
ให้ตระหนักไว้ตลอดเวลาว่าลูกน้องกำลังดูคุณเป็นแบบอย่าง ถ้าคุณแสดงออกถึงความไม่มั่นใจ เช่น พอได้รับมอบหมายงานจากเจ้านายมา คุณก็เริ่มถอนหายใจและบ่น ว่า “ งานยาก ใครจะไปทำได้” แค่คุณถอนหายใจ ลูกน้องคุณก็ใจหายตามไปหมดแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณแสดงท่าทีฮึกเหิม แสดงความมั่นใจ และพูดในเชิงบวกว่า “งานนี้ท้าทายดีนะ ถึงมันจะยาก แต่พวกเราทำได้อยู่แล้ว” คุณคิดว่าลูกน้องคุณจะมั่นใจในตัวคุณแค่ไหน
- กล้ารับผิด และรับชอบ
ผู้จัดการหลายคนคิดว่า ผู้จัดการผิดไม่ได้ ผิดแล้วเสียหน้า เสียการบังคับบัญชา แล้วตีโพยตีพายโยนความผิดให้ลูกน้อง เพียงเพื่อรักษาหน้าตัวเอง ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณคงได้รักษาหน้า แต่คุณไม่สามารถรักษาใจของลูกน้องไว้ได้แน่ ๆ
ผู้จัดการก็เป็นคนธรรมดา ย่อมทำผิดพลาดกันได้ ทำผิดก็แสดงความรับผิดชอบ รับความผิดนั้นไว้ ถึงแม้คุณจะเสียหน้า แต่คุณรักษาใจของลูกน้องไว้ได้
ไม่ต่างกับในกรณีที่ลูกน้องทำผิด ความรับผิดชอบนั้นคุณต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน อย่าปัดความรับผิดชอบ โดยให้ลูกน้องรับความผิดไว้ผู้เดียว จงแสดงตนออกมารับผิดชอบเคียงข้างลูกน้อง หรือ ถ้างานไหนลูกน้องทำแล้วประสบความสำเร็จ ให้ยกความดีความชอบนั้นให้ลูกน้อง อย่าไปฮุบเอามาไว้เป็นของตนเองเพียงคนเดียว ถ้าคุณทำได้ คุณได้ใจลูกน้องไปเต็ม ๆ
- ไม่ปล่อยให้ลูกน้อง อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับมือเองได้โดยลำพัง
ในบางสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อการไปสามารถรับมือได้ของลูกน้อง เช่น การรับมือกับลูกค้าที่มีอารมณ์โมโห ให้ผู้จัดการเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยทันที อย่าปล่อยให้สถานการณ์บานปลายจนเกินกว่าจะรับมือ แล้วเข้าไป เพราะถ้าลูกน้องพลาด ทั้ง ๆ ที่ผู้จัดการสามารถช่วยเหลือได้ มันดูใจร้ายเกินไป เหมือนปล่อยให้ลูกน้องจมน้ำไปต่อหน้าต่อตา
เหตุการณ์จะกลับกันถ้าผู้จัดการเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้ลูกน้องรอดออกมาได้ คุณจะเป็นฮีโร่ในสายตาลูกน้องทันที
- แสดงออก พูดจาอย่างให้เกียรติกับลูกน้อง
การแสดงออกทั้งทางกาย วาจา และใจ ของผู้จัดการมีผลต่อความรู้สึกของลูกน้อง ทั้งคำพูดที่ส่อเสียด ดูถูก ไม่ให้เกียรติ การล่วงเกินทางกาย และวาจา รวมถึงการทำให้ลูกน้องเสียหน้าต่อหน้าผู้อื่น นำมาซึ่งการลดความไว้วางใจที่มีต่อตัวผู้จัดการ
- ให้ข้อมูล ข่าวสารที่จำเป็นในการทำงาน
คุณควรให้ข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานกับลูกน้อง เช่น เมื่อคุณไปประชุมมา ข้อมูลที่จะทำให้ลูกน้องทำงานได้สะดวกขึ้น ควรสื่อสารแจ้งให้ลูกน้องทราบ มันจะเป็นการไม่ควรเลยถ้าลูกน้องคุณรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นจากปากคนอื่นก่อนรู้จากปากคุณเอง และในอนาคตจะเกิดการปิดบังข้อมูลจากลูกน้องด้วยเช่นกัน ทำให้การสื่อสารในหน่วยงานมีปัญหาได้
- ให้การดูแลสอนงาน และให้การสนับสนุนลูกน้อง
ผู้จัดการบางคนกลัวลูกน้องรู้มากเกินไป จะปกครองลำบาก จะมาเลื่อยขาเก้าอี้ กลัวตัวเองจะหมดความสำคัญ จึงไม่สอนงานให้ และไม่ให้การสนับสนุนลูกน้อง อยากให้คิดกลับกันว่า ถ้าคุณสอนงานน้อง สนับสนุนลูกน้องให้ทำงานได้เก่งมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อนาคตข้างหน้า ตัวคุณเองก็จะบริหารงานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
- การสร้างความไว้วางใจภายในทีมงาน
บางครั้งผู้จัดการมือใหม่อาจจะได้รับการแต่งตั้งให้ไปทำโครงการพิเศษ ซึ่งบุคลากรกรในโครงการเป็นการรวมกลุ่มกันจากหลาย ๆ หน่วยงานและลูกทีมก็ไม่ได้เป็นลูกน้องเราโดยตรง ความสามารถในการสร้างทีมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้จัดการมือใหม่อย่างเราพึงมี เพราะลำพังเพียงตัวของคุณคนเดียวไม่อาจจะสร้างผลงานที่ดีออกมาได้ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ทีมเดินหน้าสร้างผลงานออกมาได้ คือ การสร้างความไว้วางใจกันในทีม ซึ่งคุณในฐานะของผู้นำทีม จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในทีมได้อย่างไร มาดูแนวทางกัน
- แสดงการเป็นผู้นำโดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
มีคำกล่าวว่า “ถ้าคุณแสดงความเชื่อมั่นไว้ใจลูกทีมมากเกินไป คุณกำลังจะกลายเป็นคนประมาท แต่ถ้าคุณไม่เชื่อมั่นไว้ใจใครเลยคุณกำลังลังจะกลายเป็นคนประสาท” คุณต้องแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจลูกทีมเป็นแบบอย่างก่อนแบบพอดีพอควร อย่าลืมว่าลูกทีมคุณกำลังเฝ้าดูคุณอยู่ ให้คุณใช้โอกาสนี้ในการแสดงให้ลูกทีมเห็นว่าการแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นเป็นอย่างไร
นอกจากนี้การกระทำและแสดงออกในสื่งที่คุณได้เคยพูดหรือให้คำสัญญาไว้อย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างที่ดีถึงความมั่นคงและเชื่อถือได้ในมุมมองของลูกทีม เพราะถ้าคุณพูดอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ลูกทีมจะไม่สามารถคาดเดาทิศทางการทำงานได้ และที่สำคัญจะหมดความเชื่อมั่นในตัวคุณไปในที่สุด
- มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย
การสื่อสารอย่างเปิดเผยเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างเชื่อมั่นไว้วางใจกันภายในทีม ผู้นำทีมอย่างคุณจำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพูดคุยกันในทีมอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และการพูดคุยกันนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกในทีม
นอกจากนี้ผู้นำทีมยังต้องแสดงให้ลูกทีมเห็นและเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ของตัวคุณ
นอกจากนี้ผู้นำทีมยังต้องแสดงให้ลูกทีมเห็นและเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ของตัวคุณรวมถึงข้อกำหนด วัตถุประสงค์และเป้าหมายของทีมควรมีการสื่อสารออกไปอย่างชัดเจนและเปิดเผยต่อสมาชิกทุกคนในทีมในการประชุมรวมทีมกันตั้งแต่ครั้งแรก ผู้นำทีมต้องกระตุ้นให้ลูกทีมถามถ้าเกิดความสงสัย หรือไม่เข้าใจ รวมทั้งสอบถามถึงความคาดหวังที่ได้มาอยู่ร่วมทีมกัน
- สร้างโอกาสให้สมาชิกภายในทีมรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น
การทำให้ทีมมีการละลายพฤติกรรมในครั้งแรกที่พบกัน การสร้างโอกาสให้สมาชิกในทีมได้แบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวที่สามารถเปิดเผยได้ จะทำให้สมาชิกในทีมสนิทสนมคุ้นเคยกัน และไว้วางใจกันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การอาศัยโอกาสในการสังสรรค์หลังเลิกงานของสมาชิกในทีม การรับประทานอาหารร่วมกันในตอนกลางวัน หรือการจัดให้ไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุด ก็เป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ซึ่งส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจได้อีกรูปแบบหนึ่ง
- ไม่กล่าวโทษกัน
การทำงานร่วมกันในทีม ย่อมมีความผิดพลาด หรือกระทบกระทั่งกันบ้างโดยไม่ได้ตั้งใจ การให้อภัยและไม่ชี้นิ้วกล่าวโทษกันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ การร่วมกันหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดในทางสร้างสรรค์ และพร้อมจะเดินหน้าทำงานร่วมกันต่อไป และที่สำคัญทำอย่างไรจะหาทางป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต