บทที่ 1: เปลี่ยนมุมมอง ปรับมุมคิด ผู้จัดการมือใหม่
สิ่งแรกที่อยากให้คุณรับรู้และเข้าใจเมื่อคุณได้รับตำแหน่งผู้จัดการมือใหม่ป้ายแดง คือ มุมมองที่คุณต้องปรับเปลี่ยน เพราะอย่าลืมว่า วันนี้คุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมอีกต่อไปแล้ว เปรียบได้เหมือนกับวันก่อน คุณขับรถยนต์ส่วนตัวไปไหนมาไหนลำพังคนเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบใคร ๆ ดูแลเพียงตัวเองเท่านั้น แต่วันนี้เปลี่ยนหน้าที่ความรับรับผิดชอบมาเป็นกัปตันขับเครื่องบิน มีผู้โดยสารคนฝากความหวังไว้กับคุณมากมาย แน่นอนคุณจะเอามุมมองของการขับรถยนต์ส่วนตัวมาใช้กับการขับเคลื่อนเครื่องบินโดยสารไม่ได้ มาเรียนรู้กันว่าคุณควรต้องปรับมุมมองอะไรบ้าง ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความกดดันให้ตัวเอง แต่เพื่อเตรียมพร้อม ทั้งกาย และใจ ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านดีของชีวิตคุณ
- บริหารความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น
จากเดิมที่คุณทำงานรับผิดชอบงานของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่พอคุณได้รับตำแหน่งใหม่ขึ้นเป็นผู้จัดการ ความคาดหวังจากผู้บริหารองค์กรที่มีต่อคุณย่อมเปลี่ยนไป จากเดิมหวังเพียงให้คุณ
- ทำงานของตัวเองให้บรรลุตามความรับผิดชอบที่คุณได้รับ มาเป็นคาดหวังเพิ่มให้คุณดูแลลูกน้องของคุณให้ทำงานสำเร็จด้วยเช่นกัน
- พัฒนาตนเองอย่างเดียว มาเป็นคาดหวังเพิ่มให้คุณดูแลช่วยพัฒนาลูกน้องของคุณด้วย
- มีภาวะผู้ตามที่ดี มาคาดหวังเพิ่มให้คุณมีภาวะผู้นำ
- ที่เคยมีมุมมองจากฝากของพนักงานเพียงอย่างเดียว มาคาดหวังให้คุณมองในมุมขององค์กรเพิ่มขึ้น
และแน่นอนเมื่อคุณมาเป็นผู้จัดการ คุณย่อมมีความคาดหวังจากบุคคลที่อยู่ในความดูแลหรือลูกน้องคุณนั่นเอง เขาคาดหวังให้คุณ
- มีความรับผิดชอบ และเป็นต้นแบบในการทำงานที่ดี
- มีทักษะในการบริหารที่ดี ทั้งการบริหารคน และการบริหารงาน
- ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน และสามารถปกป้องดูแลเขาได้
- ยุติธรรม ไม่ลำเอียง
- มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี
- เคารพสิทธิส่วนบุคคลของลูกน้อง
ถึงตรงนี้ตัวคุณเองในฐานะผู้จัดการ จะแวดล้อมไปด้วยความคาดหวังจากคนทั้งที่อยู่เหนือคุณ คือ ผู้บริหาร และคนที่อยู่ใต้คุณ คือ ลูกน้อง เปรียบตัวคุณเหมือนไส้แซนวิชที่ถูกประกบด้วยขนมปังทั้งข้างบนและข้างล่าง แต่อย่างที่ทุกคนรู้ ๆ กัน แซนวิชมันจะรสชาติดีมันอยู่ที่ไส้ ดังนั้นผู้จัดการมือใหม่จงทำตัวให้เป็นไส้ที่ขนมปังปรารถนา เพื่อยกระดับความอร่อยของแซนวิชให้มีแต่คนอยากลิ้มลอง
- ระวังกับดักแห่งความสำเร็จ
- ไม่ฟังความคิดคนอื่น
การมีตำแหน่งผู้จัดการใหม่มาค้ำคอ อาจจะทำให้หลายคนเริ่มปิดกั้นความคิดจากรอบด้าน และแสดงความมั่นใจในความคิดของตัวเอง เพื่อแสดงอำนาจความเป็นผู้จัดการของตัวเองออกมาให้คนรอบข้างได้เห็น
วิธีแก้ไขคือ ให้คิดว่าตำแหน่งผู้จัดการที่เราได้มา ก็คือ ความรับผิดชอบที่เพิ่มอีกส่วนหนึ่งซึ่งเรายังต้องการความคิดเห็นจากคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง เพื่อใช้ในการวางแผน การแก้ปัญหา และการตัดสินใจตัดสินในการทำงาน ไม่ได้เป็นการเสียหน้าเลย ถ้าเราจะใช้ความคิดของคนอื่น ๆ มาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการทำงาน ให้ใช้สุภาษิตของช่างตัดผมที่ว่า “หลายหัว ย่อมดีกว่าหัวเดียว”
- ไม่ไว้ใจผู้อื่น
ผู้จัดการมือใหม่หลาย ๆ คน มักไม่แน่ใจว่าลูกน้องตัวเองจะทำงานนั้น ๆ ได้สำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะถ้ายิ่งไม่รู้มือกันมาก่อน ผู้จัดการมือใหม่จึงมักจะทำอยู่ 2 อย่าง คือ เริ่มล้วงลูก จุกจิกกับลูกน้องทุกขั้นตอนการทำงาน หรือไม่ก็ ระแวงจนไม่กล้ามอบหมายงานให้ลูกน้องไปทำ โดยเฉพาะงานที่สำคัญ ๆ เก็บงานไว้ทำเอง จนผู้จัดการมือใหม่หลาย ๆ คน งานท่วมหัว แต่ลูกน้องนั่งสบาย ไม่มีงานทำ เป็นการดีที่ผู้จัดการจะไม่ “ประมาท” ในการมอบหมายงาน หรือ ติดตามงาน แต่ถ้าระแวงมากจนเกินไป จะถูกลูกน้องตั้งข้อหา “ประสาท” ให้โดยไม่รู้ตัว
ซึ่งผู้จัดการมือใหม่จะได้มาเรียนรู้กัน ต่อไปเรื่องของการมอบหมายงาน และการติดตามงาน ในหนังสือเล่มนี้
- เริ่มเท้าไม่ติดดิน
ผู้จัดการมือใหม่ หลายคนอาจจะได้ สิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นที่มาพร้อมกับตำแหน่ง เช่น รถประจำตำแหน่ง ห้องทำงาน มีเลขานุการ มีลูกน้อง พอสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ชีวิตเริ่มไม่ติดดิน จากที่เคยออกไปทำงานที่หน้างาน ไปพบลูกค้า ออกสำรวจตลาด กับเปลี่ยนมานั่งบริหารงานอยู่กับโต๊ะ รอรับข้อมูลจากลูกน้องที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ห่างเหินจากแหล่งข้อมูลที่แท้จริง
จากคนที่เคยเข้าพบพูดคุยด้วยง่าย ๆ สัมผัสถึง เริ่มต้องมีพิธีรีตรองเพิ่มขึ้น กว่าจะได้เข้าพบต้องนัดล่วงหน้า
ทำตัวให้เหมือนปกติครับ อย่าทำให้ตำแหน่งใหม่ของคุณ เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นทำให้คุณเป็นคนที่คนอื่นเข้าไม่ถึง มิเช่นนั้น พอวันหนึ่งข้างหน้าคุณอยากจะเดินเข้าไปหาคนอื่น เกราะที่คุณสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว จะทำให้คุณเข้าถึงคนอื่นได้ยากเช่นกัน
- ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว
ผู้จัดการมือใหม่หลายคนพอเริ่มรับตำแหน่ง ก็ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว หรือบางคนถึงขนาดคว่ำแก้วน้ำ หลงระเริงคิดว่า “ฉันแน่” ไม่ยอมรับอะไรใหม่ ๆ อีกต่อไป อยากจะบอกว่า ถ้าคุณคิดและเป็นเช่นนั้นคุณกำลังติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง เพราะความรู้ ทักษะ ความสามารถที่ทำให้คุณมาถึงจุดนี้ ไม่เพียงพอจะทำให้คุณได้ไปต่อ
ความรู้ ทักษะและความสามารถต่าง ๆ ที่คุณใช้ตอนที่คุณยังเป็นพนักงานธรรมดาและทำให้คุณประสบความสำเร็จได้เลื่อนตำแหน่งเรื่อย ๆ จนมาเป็นผู้จัดการ กับความรู้ ทักษะ และความสามารถที่จะทำให้คุณเป็นผู้จัดการที่ดี มันคนละเรื่องกัน เหมือนกับว่าวันหนึ่งคุณประสบความสำเร็จใช้ขอเบ็ดที่ตกปลาตัวใหญ่มาได้ แล้วดีใจคิดว่าจะใช้ขอเบ็ดอันเดิมมาหั่นแร่เนื้อปลาทำกับข้าว สู้เอาเวลาที่จะทู่ซี้ใช้ขอเบ็ดอันนั้น เปิดใจรับหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับการแร่ปลาจะดีกว่า
- เปิดรับเพื่อเติมเต็มความรู้ และทักษะสำหรับผู้จัดการมือใหม่
ในบทต่อ ๆ ไปของหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้จัดการมือใหม่ คือ
- การสร้างความไว้วางใจ
- การสร้างมนุษยสัมพันธ์
- การวางแผนและตั้งเป้าหมาย
- การมอบหมายงาน การสั่งงาน และการติดตามงาน
- การสอนงาน
- การสร้างแรงจูงใจ
- การให้ Feedback
- การสร้างทีมงาน
- การสื่อสาร
- การพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา
- การบริหารเวลา
การเปิดใจรับและเติมเต็มความรู้และทักษะเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้จัดการมือใหม่มั่นใจในการบริหารงาน และบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แต่ถึงแม้เริ่มต้นไม่ดี (ไปแล้ว) สำหรับผู้จัดการมือใหม่บางคน ก็สามารถมีชัยได้เช่นกัน ถ้าปรับตัวทัน !!!